เรียนรู้ไปด้วยกัน สร้างสรรค์ไปด้วยกัน ก้าวสู่ฝัน นวัตกร AI
โครงการนวัตกรปัญญาประดิษฐ์ (The AI Innovators Project) เป็นโครงการที่เกิดขึ้นจากการเล็งเห็นความสำคัญที่จะต้องเตรียมความพร้อมและสร้างโอกาสใหม่ให้กับระบบการศึกษาของประเทศ เพื่อให้บุคลากรมีความรู้และทักษะที่เกี่ยวข้องกับปัญญาประดิษฐ์อย่างยังยืน โดยการเตรียมครูผู้สอนให้มีความรู้ด้านปัญญาประดิษฐ์ และสามารถทำหน้าที่ชักนำและพัฒนาให้นักเรียนของตนเองมีความพร้อมในการรับมือต่อการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นจากอิทธิพลของปัญญาประดิษฐ์ ทั้งในด้านของศึกษาและการทำงานในอนาคต
เป้าหมายของโครงการ คือ ส่งเสริมให้ครูและนักเรียนรู้เท่าทันปัญญาประดิษฐ์ เข้าใจการทำงานของปัญญาประดิษฐ์ สามารถพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ และนำปัญญาประดิษฐ์มาใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศ การยกระดับความรู้ของครูทางด้านปัญญาประดิษฐ์และการพัฒนาทักษะของครูด้านนวัตกรรมปัญญาประดิษฐ์ จะทำให้ครูสามารถเป็นผู้ชักนำและพัฒนาผู้เรียนของตนเองให้สามารถเข้าใจในหลักการสำคัญของปัญญาประดิษฐ์ ตลอดจนสนับสนุนผู้เรียนของตนเองให้พัฒนาไปสู่การเป็นนวัตกรด้านปัญญาประดิษฐ์ต่อไปได้
ผลลัพธ์ที่คาดหวังของโครงการคือ ครูที่มีความเข้าใจปัญญาประดิษฐ์อย่างลึกซึ้ง มีแนวคิดในการนำปัญญาประดิษฐ์มาประยุกต์ใช้ในระบบการศึกษา และสามารถพัฒนานักเรียนให้มีความพร้อมสำหรับการเป็นนวัตกรปัญญาประดิษฐ์ เพื่อเป็นกำลังของประเทศต่อไปในอนาคต
ขอบเขตการให้บริการของโครงการ คือ โรงเรียนในจังหวัดซึ่งตั้งอยู่ในเขตภาคเหนือและภาคกลางตอนบน รวมทั้งสิ้น 18 จังหวัด อันได้แก่ แม่ฮ่องสอน, เชียงราย, พะเยา, เชียงใหม่, ลำพูน, ลำปาง, น่าน, แพร่, ตาก, นครสวรรค์, กำแพงเพชร, พิจิตร, พิษณุโลก, เพชรบูรณ์, สุโขทัย, อุตรดิตถ์, ชัยนาท และ อุทัยธานี
# | กิจกรรมในปี พ.ศ. 2568 |
กำหนดการ |
---|---|---|
1 | เปิดรับสมัครครูเข้าร่วมโครงการ -> สมัครเข้าร่วมโครงการ | 15 พ.ย. - 6 มิ.ย. 2568 |
2 | ปฐมนิเทศผู้ร่วมโครงการและอบรมแบบออนไลน์ หัวข้อ AI for Thai Teachers | 8 มิ.ย. 2568 (9.00 น. -12.00 น.) |
3 | อบรมเชิงปฏิบัติเพื่อยกระดับทักษะด้านปัญญาประดิษฐ์ (Workshop แบบ Onsite)
ที่ศูนย์มหาวิทยาลัยเครือข่ายทั้ง 9 ศูนย์ |
30 ส.ค. 2568 |
4 | ประกาศรายชื่อครูผู้ได้รับคัดเลือกเข้าค่ายฝึกผู้บ่มเพาะนวัตกรด้านปัญญาประดิษฐ์ | 8 ก.ย. 2568 |
5 | The Incubators of AI Innovator Bootcamp
เข้าค่ายฝึกผู้บ่มเพาะนวัตกรด้านปัญญาประดิษฐ์ ที่ ม.นเรศวร |
19 ต.ค. - 23 ต.ค. 2568 |
6 | AI Projects Hackathon
ทำโครงการนวัตกรรมปัญญาประดิษฐ์ร่วมกับนักเรียนของตนเอง |
24 ต.ค. - 31 ธ.ค. 2568 |
7 | AI-Projects Selection
ประกวดโครงการนวัตกรรมแบบออนไลน์ (รอบคัดเลือก) |
10 ม.ค. - 11 ม.ค. 2569 |
8 | ประกาศผลโครงการที่ผ่านเข้ารอบสุดท้าย | 16 ม.ค. 2569 |
9 | ทีมที่ผ่านเข้ารอบเข้าร่วมกิจกรรมสัมมนาพิเศษ
นิทรรศการแสดงผลงานและกิจกรรมประกวดโครงการนวัตกรรมรอบสุดท้าย ที่ ม.นเรศวร |
22 มี.ค. - 26 มี.ค. 2569 |
10 | ขยายผลโครงการนวัตกรรมให้เกิด impact | 9 เม.ย. - 31 ส.ค. 2569 |
หลักสูตร “นวัตกรปัญญาประดิษฐ์ (AI Innovator)” ที่เหมาะสำหรับครูผู้สอนและนักเรียนระดับมัธยมปลาย ครอบคลุมพื้นฐานแนวคิดด้าน AI การใช้เครื่องมือพัฒนาเบื้องต้น การเรียนรู้ผ่านการลงมือปฏิบัติจริง การประเมินผลตามมาตรฐาน และสื่อประกอบการสอนที่เข้าใจง่ายและนำไปใช้ได้จริงในห้องเรียน
ครอสอบรมสำหรับพัฒนาศักยภาพครูและนักเรียนผ่านหลักสูตรที่ออกแบบมาเฉพาะสำหรับโครงการ เช่น หลักสูตร AI for Teachers เสริมความเข้าใจด้าน AI และการนำ AI ไปใช้ในการทำงานและการสอน หรือ หลักสูตร AI Fundamentals: ปูพื้นฐานแนวคิดของ AI การใช้งาน AI ในชีวิตประจำวัน และการใช้ AI อย่างรับผิดชอบ หรือ หลักสูตร Deep AI ซึ่งเน้นเรื่องการสร้าง AI โดยปูพื้นฐานคณิตศาสตร์ที่ใช้ในงานด้าน AI การเขียนโค้ด และ การทำ Hands-on AI Projects ที่มาจากปัญหาจริง เพื่อพัฒนาทักษะการคิดวิเคราะห์และการสร้างสรรค์นวัตกรรม
แพลตฟอร์มการเรียนรู้ออนไลน์ที่รวบรวมเนื้อหาหลักสูตร สื่อการสอน วิดีโอการสอน และระบบติดตามความก้าวหน้าของผู้เรียน รองรับการเรียนรู้ของทั้งครูและนักเรียนได้ทุกที่ทุกเวลา
ให้คำปรึกษาโดยผู้เชี่ยวชาญด้านปัญญาประดิษฐ์ คณิตศาสตร์ และคอมพิวเตอร์ เพื่อสนับสนุนครูและโรงเรียนในการวางแผนการสอน การจัดกิจกรรม และช่วยให้คำปรึกษาในการทำโครงงานด้าน AI อย่างมีประสิทธิภาพ
จัดกิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้และสร้างแรงบันดาลใจ เช่น บรรยาย สัมมนา การทำโครงงานนวัตกรรม การประกวดโครงงานนวัตกรรม และกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เพื่อพัฒนาทักษะการคิดวิเคราะห์ การทำงานเป็นทีม และความคิดสร้างสรรค์ของนักเรียนและครู
ความร่วมมือกับหน่วยงาน องค์กร และบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำ เพื่อสนับสนุนทรัพยากร เครื่องมือ ผู้เชี่ยวชาญ และโอกาสในการเรียนรู้ด้าน AI ที่ทันสมัย สำหรับครูและนักเรียนในโครงการ
ผู้ดำเนินโครงการคือกลุ่มบุคลากรด้านคณิตศาสตร์และวิทยาการคอมพิวเตอร์ จาก 10 มหาวิทยาลัยในพื้นที่เขตภาคเหนือ ซึ่งได้รวมตัวกันเป็นเครือข่ายวิจัยด้านปัญญาประดิษฐ์ มีวัตถุประสงค์ที่จะช่วยกันผลักดันให้เกิดการขับเคลื่อนทางการศึกษา การพัฒนาองค์ความรู้ การสร้างนวัตกรรม และการพัฒนากำลังคนในด้านปัญญาประดิษฐ์ ในเขตพื้นที่
ปีงบประมาณ 2568 สนับสนุนโดย สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
ปีงบประมาณ 2566-2567 สนับสนุนโดย หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคน และทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษาการวิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.)
เรียนรู้ไปด้วยกัน สร้างสรรค์ไปด้วยกัน ก้าวสู่ฝัน นวัตกร AI